ประวัติ ของ มนัส โอภากุล

นายมนัสเป็นบุตรชายของ นายติ๊มเข่ง แซ่โอ (แซ่หู 胡) ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพ จบการศึกษาจากโรงเรียนเผยอิง และโรงเรียนสิ่นหมิน ถนนทรงวาด ในย่านเยาวราช และจบจากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2469 เริ่มเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. 247883 ต่อมาได้เป็นเสมียนและผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทสุพรรณบุรีจังหวัดพาณิชย์ จำกัด ระหว่างปี พ.ศ. 248487 ภายหลังเปิดร้านค้าเป็นของตนเอง ชื่อ "ร้านมนัสพาณิชย์" ตั้งอยู่ที่เลขที่ 770 ตลาดทรัพย์สินซอย 4 ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ขายเครื่องดนตรีและเครื่องกีฬาเด้าสมบัติ

นายมนัส โอภากุล มีความสนใจและรักในการศึกษาค้นคว้าทางด้านโบราณคดีโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรี จนมีความรู้อย่างละเอียดและแตกฉาน ได้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมทั้งนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษา จนเป็นที่ยอมรับไปทั่ว และได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัตถุโบราณในจังหวัดสุพรรณบุรี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา โดยเฉพาะความรู้ความสามารถทางด้านพระพุทธรูปและพระเครื่องชนิดต่าง ๆ เช่น พระผงสุพรรณ เป็นต้น[1] นอกจากนี้แล้วยังเป็นนักสื่อสารมวลชนท้องถิ่นที่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับแรกของสุพรรณบุรี คือ หนังสือพิมพ์คนสุพรรณ

นอกจากนี้แล้ว ยังเคยเป็นผู้จัดการวงดนตรีลูกทุ่ง และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรีสากลวงแรกของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยในปี พ.ศ. 2480 ได้ตั้งวงดนตรีขึ้นในนามของ วงดนตรีโรงเรียนเทศบาลวัดปราสาททอง แล้วเปลี่ยนเป็นชื่อวง มนัสและสหาย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 วงมนัสและสหายได้เข้าสังกัดสมาคมชาวสุพรรณ จึงได้ชื่อวง ช.พ.ส. หนึ่งในสมาชิกของวงคือ อาจารย์สุเทพ โชคสกุล เจ้าของบทเพลงที่โด่งดังและเป็นอมตะจนถึงปัจจุบันเช่น "แม่พิมพ์ของชาติ" "มนต์การเมือง" "พระคุณที่สาม" เป็นต้น และเพลงที่ใช้ในวงการลูกเสือ เช่น "ความเกรงใจ" "ความซื่อสัตย์" "ตรงต่อเวลา" รวมทั้งเพลงที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง "ครูบ้านนอก" อีกหลายเพลง นับได้ว่าท่านได้สร้างแรงบันดาลใจและสร้างโอกาสแก่สมาชิกในวงดนตรีของท่าน จนมีโอกาสได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ และได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ให้แสดงหน้าพระที่นั่งในคราวที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาจังหวัดสุพรรณบุรี สมาชิกของวงทุกท่านได้รับพระราชทานถุงทองบรรจุเหรียญ 1 ตำลึง ซึ่งเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้

ส่วนสมาชิกวงดนตรี ช.ส.พ.หรือ วงดนตรีชาวสุพรรณ ได้แก่ นายมนัส โอภากุล เล่นไวโอลิน, นายสุเทพ โชคสกุล เล่นทรัมเปต, นายสถาน แสงจิตพันธ์ กีต้าคอร์ด, นายประยูร ปริยัติฆระพันธ์ เล่นดับเบิลเบส, และ นายสนิท บัวทอง เล่น แซกโซโฟน ซึ่งปัจจุบันทั้งหมดได้เสียชีวิตแล้ว [2]

ใกล้เคียง